วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วันฉัตรมงคล


วันฉัตรมงคล

         วันฉัตรมงคลของทุกปีตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม วันสำคัญอีกวันหนึ่งของปวงชนชาวไทย ที่อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ควรระลึกถึง วันนี้กระปุกจึงมีเรื่องราวความสำคัญวันฉัตรมงคล ประวัติวันฉัตรมงคลมาฝากค่ะ

ความหมายของวันฉัตรมงคล

         วันฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คล) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธี ฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษก

ความสำคัญของวันฉัตรมงคล

         วันฉัตรมงคล เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และดำรงพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช"เนื่อง จากยังมิได้ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ จึงได้เสด็จนิวัตประเทศไทย

         ดังนั้นรัฐบาลไทยและพสกนิกร จึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จัดงานพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตรหรือรัฐพิธีฉัตรมงคล หรืออาจเรียกว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งกระทำในวันบรมราชาภิเษก ถวายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

         ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันฉัตรมงคล เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้

ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

         การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มีหลักฐานปรากฏในหลักศิลาจารึก วัดศรีชุมของพญาลิไทว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งพ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว หรือ พ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย

         จากนั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า "พระบาท" นำหน้า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า "พระบรมราชโองการ" และอีกประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น 

ความเป็นมาของพระราชพิธีฉัตรมงคล

         ก่อนหน้ารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีฉัตรมงคลถือเป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐาน ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก และเป็นงานส่วนตัว ไม่ถือเป็นงานหลวง

         จนกระทั่ง สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงกระทำพิธีฉัตรมงคลขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2393 โดยมีพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัยที่ควรแก่การเฉลิมฉลองในประเทศที่มีพระเจ้า แผ่นดิน จึงถือให้วันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล และควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ ยากต่อการเข้าใจ อีกทั้งเผอิญที่วันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่ เดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงอธิบายว่า วันฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงไม่มีใครติดใจสงสัย

         ดังนั้นจึงได้มีพระราชดำริจัดงานพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า "ฉัตรมงคล" นี้ ขึ้น โดยได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำเดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าการเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก

         ต่อมาในสมัยรัชกาล ที่ 5 วันบรมราชาภิเษกตรงกับเดือน 12 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 แต่ไม่ได้รับการยินยอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงกับวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม รูปแบบงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน

พระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลปัจจุบัน

         ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน 3 วัน นั่นคือ

          วันแรก ตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคม เป็น งานพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระบรมราชบุพการี เป็นพิธีสงฆ์สดับปกรณ์ พระบรมอัฐิ สมเด็จสวดพระพุทธมนต์ แล้วพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา ซึ่งในวันนี้ได้เพิ่มพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล ที่จะพระราชทานแก่หน่วยทหารบางหน่วยเข้าไว้ด้วย

          วันที่ 4 พฤษภาคม เป็น วันเริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล เจ้าพนักงานจะได้อัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขึ้นประดิษฐานบนแท่นใต้พระมหาปฎลเศวตฉัตร พระครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล แล้วทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เวลาเที่ยง ทหารบก ทหารเรือ จะยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 21 นัด 

          ส่วนวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ทรงบูชาเครื่องกกุธภัณฑ์ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและราชกกุธภัณฑ์ ตอนเย็นพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่ผู้ที่มีความดีความชอบ แล้วเสด็จนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ที่ปราสาทพระเทพบิดร เป็นเสร็จพระราชพิธี

         ทั้งนี้ในวันฉัตรมงคล สำนักพระราชวังได้เปิดปราสาทหลายแห่งให้ประชาชนได้เข้าชมและถวายบังคมอีกด้วย

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันฉัตรมงคล 

           1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ

           2. ร่วมทำบุญตักบาตร ประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล 

           3. น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยพร้อมเพรียงกัน กล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี ถวายชัยมงคลให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมหามิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยไปชั่วกาลยิ่งยืนนาน 

         เมื่อวันฉัตรมงคลเวียนมาบรรจบครบรอบอีกหนึ่งครา ในวันที่ 5 พฤษภาคม พสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย จึงควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย เดช ซึ่งได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันมีคุณอนันต์แก่ปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

วันจักรี

วันจักรี

          วันจักรี วันที่ 6 เมษายนของทุกปี ซึ่ง วันจักรีมีความสําคัญอย่างไร เป็นวันหยุดราชการหรือไม่ เรามีข้อมูลมาฝาก

          ในทุก ๆ วันที่ 6 เมษายนของทุกปีนั้นถือเป็นสำคัญอีกวันหนึ่งของไทย นั่นคือ วันจักรี ซึ่งเป็นวันที่เราจะร่วมกันระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รวมถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงนำประวัติและความสำคัญของวันนี้มาฝากกันค่ะ

วันจักรี คือวันอะไร ตรงกับวันที่เท่าไร

          วันจักรี ภาษาอังกฤษคือ Chakri Memorial Day ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ดังนั้นในวันที่ 6 เมษายนของทุกปีจึงนับเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรี 

วันจักรี มีความสําคัญอย่างไร

          นอกจากจะเป็นวันแห่งการก่อตั้งราชวงศ์จักรีแล้ว ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ยังเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชการทรงสร้างกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของไทยอีกด้วย จึงนับเป็นวันครบรอบกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปัจจุบัน (พ.ศ. 2559) กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 234 ปี

          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 4 เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมาและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงข้าราชการและประชาชน ได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง โดยได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และได้มีการย้ายที่อีกหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นพระพี่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท หรือพระที่นั่งศิวาลัยปราสาท

          ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระบรมรูปของทั้ง 4 พระองค์ มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 


          ทั้งนี้การซ่อมแซม ก่อสร้าง และประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล มาแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนในปีนั้น และได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า "วันจักรี" 

วันจักรี เป็นวันหยุดราชการหรือไม่

          ทุกวันที่ 6 เมษายน หรือวันจักรี รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ แต่หากวันจักรีในปีใดตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ ให้หยุดชดเชยได้ในวันทำการถัดไป

วันจักรี กิจกรรมมีอะไรบ้าง


          ในวันจักรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว และเสด็จฯ วางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสรณ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า

          ขณะที่หน่วยงานราชการ เอกชน และภาคประชาชน จะจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และมหาจักรีบรมราชวงศ์ เช่น จัดพิธีถวายบังคมพระรูป จัดนิทรรศการ กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ 

           และทั้งหมดก็คือความเป็นมาของวันจักรี ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่วันหยุดราชการธรรมดา ๆ แต่เป็นวันที่ประชาชนทุกคนควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์ 

วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 31 มีนาคม





Nangklao_portrait
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฏาราชเจ้า รัชกาลที่ 3 แห่งพระบรมราชจักรวงศ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเจ้าจอมมารดาเรียม ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระศรีสุลาลัย  พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2330 ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี และทรงสวรรคต เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2394 รวมพระชนมายุ 63 พรรษา 11 วัน เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ 25 ปี 7 เดือน 23 วัน
ประวัติวันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ 31 มีนาคม 2330 และด้วยความสำนึกในพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณ อันมีเป็นอเนกประการ คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 กำหนดให้วันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า” หรือ “วันเจษฎา” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน

พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ด้านการปกครอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองบ้านเมืองเสียใหม่ที่กระจัดกระจายให้มาอยู่รวมกัน เพื่อความเป็นระเบียบมากขึ้น และทรงให้สร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันข้าศึกที่จะเข้ามาโจมตีประเทศไทย นอกจากนี้ทรงให้มีการสักและการลงทะเบียนสำรวจจำนวนพลเมือง เพื่อเป็นกำลังรับใช้ชาติและที่ต้องเสียภาษีให้แก่ทางราชการ การปราบปรามโจรผู้ร้าย ปราบจีนตั้วเหี่ย และปราบปรามการค้าฝิ่น
ด้านการต่างประเทศ มีการทำสัญญาพระราชไมตรีกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้อังกฤษส่งเรือกำปั่นเข้ามาค้าขายกับไทยมากขึ้น และในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ได้มีการทำสัญญาพระราชไมตรีกับสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับอังกฤษ และมีการทำสัญญาว่าด้วยความเสมอภาคที่ชาวอเมริกันจะเข้ามาทำการค้าขายในเมืองไทย
ด้านเศรษฐกิจและการค้า พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งระบบการเก็บภาษี โดยให้เอกชนผู้ได้รับการประมูลไปเรียกเก็บภาษีจากราษฎรเอง จึงเรียกผู้เก็บภาษีอากรนี้ว่า เจ้าภาษีหรือนายอากร แล้วพระองค์จึงนำรายได้เหล่านี้มาทำนุบำรุงบ้านเมืองในทุกด้าน และมีเงินจำนวนหนึ่งที่เหลือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น เรียกว่า เงินถุงแดง
ด้านการศึกษา พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาของทุกชนชั้น เห็นได้จากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชนต่างชาติเข้ามาเผยแผ่ศาสนา ทำให้คณะบาทหลวงและมิชชันนารี (หมอสอนศาสนา) ได้เข้ามาทำการสอนด้วย และทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดสร้างโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกของไทย ปัจจุบันคือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ส่วนสตรีก็ให้มีการเรียนการสอนในวัง ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็น มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย
ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี ในรัชสมัยของพระองค์ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศมีความมั่นคง จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดีก็เช่นกัน พระองค์ทรงทำนุบำรุงและฟื้นฟูศิลปะในแขนงต่างๆ
ด้านสถาปัตยกรรมและจิตรกรรม ถือเป็นยุคแห่งการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามครั้งใหญ่ รวมไปถึงพระบรมมหาราชวังก็ได้รับการบูรณะและก่อสร้างอย่างขนานใหญ่เช่นเดียว กัน ซึ่งสถาปัตยกรรมโดยส่วนใหญ่มีอิทธิพลของจีนเข้ามามาก เนื่องจากทรงค้าขายกับชาวจีนประกอบกับทรงมีพระราชหฤทัยนิยมศิลปะจีนอยู่มาก
ด้านประติมากรรม ที่โดดเด่นมาก ได้แก่ การสร้างรูปยักษ์ใหญ่ยืนถือกระบองที่มีความงดงาม เช่น ที่วัดพระแก้วและวัดอรุณฯ และการสลักตัวตุ๊กตาหินประดับไว้ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งตุ๊กตาหินเหล่านี้จะปรากฏอยู่ทั่วไปตามพระอารามต่างๆ ที่ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์ เช่น วัดพระเชตุพนฯ วัดพระแก้ว และในพระบรมมหาราชวัง
ด้านวรรณคดี พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ไว้หลายเรื่องด้วยกัน เช่น โคลงปราบดาภิเษก เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน บทละครนอกเรื่องสังข์ศิลป์ชัย ส่วนวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา ก็มีกวีหลายท่านช่วยกันแต่งขึ้นทั้งภาษาไทยและภาษามคธ (บาลี) เช่น ปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ๑๑ กัณฑ์ สมุทรโฆษคำฉันท์ ลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐิน เป็นต้น
ด้านการบำรุงพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกตามพระราชประเพณี ทรงมีพระราชศรัทธาแก่กล้าในบวรพระพุทธศาสนา ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เป็นนิจ อีกทั้งพระองค์ยังส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและได้มีพระบรมราชานุญาตให้ คณะบาทหลวงและมิชชันนารี เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในประเทศไทย ส่วนทางพระพุทธศาสนา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูปพระพุทธศาสนาขึ้น โดยให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ขณะทรงผนวชอยู่ ได้จัดตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย จนทำให้พระสงฆ์เคร่งครัดในพระธรรมวินัยกันมากขึ้น
files300311173222
และด้วยเหตุนี้เอง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ มีต่อปวงชนชาวไทยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๗กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ เห็นชอบให้ถวายพระราชสมัญญามหาราชในพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระมหาเจษฎาราชเจ้า แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่ แต่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ ๓๑ มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติ คือ วันที่ระลึกมหาเจษฎาบดินทร์พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และประกาศให้ข้าราชการและประชาชนประกอบพิธีถวายราชสักการะ โดยมิต้องถือเป็นวันหยุดราชการ
กิจกรรม วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนชาวไทยทุกคนร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ด้วยการวางพานพุ่มถวายบังคมพระบรมรูปของพระองค์ ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ (ศาลาเฉลิมไทยเดิม)

วันศิลปินแห่งชาติ

24 กุมภาพันธ์ - วันศิลปินแห่งชาติ : ปราชญ์แห่งศิลปะของแผ่นดิน

ดัชนีบทความ
24 กุมภาพันธ์ - วันศิลปินแห่งชาติ : ปราชญ์แห่งศิลปะของแผ่นดิน
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
E-book
ทุกหน้า
1คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ เพื่อเป็นการแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนศิลปินให้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท

เพื่อระลึกถึงวันคล้ายพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ 2310 เอกอัครศิลปินที่ยิ่งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะหลายสาขา ทั้งทางด้านประติมากรรม ได้ทรงร่วมกับช่างประติมากรรมฝีมือเยี่ยมในสมัยนั้นแกะสลักบานประตูไม้พระวิหาร วัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นลายเครือเถารูปป่าหิมพานต์นับเป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยมด้านวรรณกรรม ถือว่าทรงเป็นกวีเอกแห่งแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้จำนวนมากมายหลายเรื่อง เช่น อิเหนา ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำ นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกไว้ถึง 5 เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในด้านวรรณกรรม ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวรรณกรรม และเพื่อเป็นการยกย่องศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้มอบรางวัลให้แก่ ศิลปินที่มีผลงานดีเด่นในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติศิลปิน

คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ เพื่อเป็นการแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนศิลปินให้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท นอกจากนี้เป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะของชาติให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน โดยดำเนินการเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ มีวัตถุประสงค์ในขณะนั้นว่า ต้องยกย่อง เชิดชู สนับสนุน ส่งเสริม รวมถึงช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอันทรงคุณค่า
  
ศิลปินแห่งชาติทุกท่าน ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่า เป็นปราชญ์ทางด้านศิลปะที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นผู้ที่อุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันล้ำค่าไว้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษย์ชาติ ซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐและประชาชนชาวไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกันธำรงรักษาส่งเสริม สนับสนุน ให้กำลังใจแก่ศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และเป็นการสานต่อมรดกทางวัฒนธรรมจากศิลปินรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งให้สืบทอดเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติไทยสืบไป กว่าที่จะมาเป็นศิลปินแห่งชาติได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่ใครจะมาเป็นก็ได้ แต่ต้องมีความสามารถหลายอย่าง และเป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักวิชาชีพของตน มีความสร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน แสดงถึงความเป็นนักปราชญ์ในทางความรู้ ความสามารถของศิลปินที่ได้อุตสาหะอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะมากมาย ใน ๓ สาขา ได้แก่
 
๑. สาขาทัศนศิลป์ คือ ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา จะเป็นศิลปะสองมิติหรือสามมิติ ซึ่งได้แก่ ผลงานศิลปกรรมประเภทต่างๆ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตาแบ่งออกเป็น
วิจิตรศิลป์ประยุกต์ศิลป์ได้แก่
๑. วิจิตรศิลป์
๑.๑ จิตรกรรม ได้แก่ ภาพเขียนสี ฯลฯ และ ภาพลายเส้น
๑.๒ ประติมากรรม ได้แก่ งานปั้น แกะสลัก การหล่อ ฯลฯ
๑.๓ ภาพพิมพ์ ได้แก่ ภาพพิมพ์ทุกชนิด เช่น ภาพพิมพ์ไม้ ภาพพิมพ์หิน ภาพพิมพ์ร่องลึก และภาพพิมพ์ตะแกรงไหม รวมถึงผลงานศิลปะประเภท MONOPRINT คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
๑.๔ สื่อประสม ได้แก่ ผลงานศิลปกรรมที่ใช้กรรมวิธีทางวัสดุต่าง ๆ สื่อทางเทคโนโลยี ได้แก่ งานประเภทจัดวาง ฯลฯ
๑.๕ ภาพถ่าย ได้แก่ ผลงานศิลปะภาพถ่าย ที่เสนอด้วยสื่อและกรรมวิธีต่าง ๆ
 ๒. ประยุกต์ศิลป์
 ๒.๑ สถาปัตยกรรม ได้แก่ สถาปัตยกรรมแบบประเพณี สถาปัตยกรรมร่วมสมัย
 ๒.๒ สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ได้แก่ การจัดตกแต่งภายในอาคาร
 ๒.๓ การออกแบบผังเมือง ได้แก่ การจัดองค์ประกอบของชุมชน กลุ่มอาคาร สิ่งแวดล้อม และสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับส่วนของเมือง
 ๒.๔ ภูมิสถาปัตยกรรม ได้แก่ การจัดองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องกับอาคาร ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมของสาธารณะในชุมชนและพื้นที่ธรรมชาติ
๒.๕ การออกแบบอุตสาหกรรม ได้แก่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผ่านกระบวนการผลิตให้มีประโยชน์ใช้สอยละมีความเหมาะสมกับวัสดุที่ใช้ในการผลิตอย่างมีศิลปะ
 ๒.๖ ประณีตศิลป์ ได้แก่ ผลงานประยุกต์ศิลป์ประเภทอื่น ๆ ที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ สร้างสรรค์ขึ้นด้วยวัสดุและกรรมวิธี เพื่อความสุนทรียภาพและ / หรือมีประโยชน์ใช้สอย
๒. สาขาวรรณศิลป์ คือ บทประพันธ์ที่ปลุกมโนคติของผู้อ่าน ทำให้เกิดจินตนาการความเพลิดเพลิน และเกิดอารมณ์ต่างๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย บันเทิงคดี สำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ หนังสือเด็ก วรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง
๓. สาขาศิลปะการแสดง คือ ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นได้ทั้งวิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ รวมทั้งศิลปะพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดง ดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้
 ๓.๑ ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย
 ๓.๒ ดนตรีไทย หมายถึง การบรรเลงเครื่องดนตรี และการขับร้อง ทั้งที่เป็นมาตรฐาน กลางของชาติ เช่น ปี่พาทย์ เครื่องสาย มโหรี ดนตรีในพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีการของชาวบ้าน ทุกภูมิภาค รวมทั้ง การดนตรี การขับร้องพื้นบ้านของภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย ตลอดจนการพากย์ เจรจา เสภา เห่ กล่อมต่าง ๆ
๓.๓ นาฏศิลป์ไทย หมายถึง การแสดงนาฏศิลป์ของไทย ทั้งที่เป็นของราชสำนัก ของส่วนราชการ และการแสดงทั่วไป เช่น โขน ละคร ฟ้อนรำ ระบำ ลิเก และการแสดงพื้นบ้านของภาค ต่าง ๆ ในประเทศไทย
๓.๑.๑ ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล
๓.๒.๒ ดนตรีสากล หมายถึง การบรรเลงเครื่องดนตรีและการขับ ร้อง ซึ่งในที่นี้แบ่งออกเป็น ๓ สาขาย่อย คือ ดนตรีคลาสสิก ดนตรีไทยสากล และดนตรีลูกทุ่ง

   
ลักษณะและความหมายของเข็มศิลปินแห่งชาติ
ลักษณะของเข็ม เป็นเหรียญกลม ภายในจัดองค์ประกอบเป็นภาพดอกบัวเรียงกันสามดอก มีแพรแถบรองรับต่อเนื่อง อ้อมรัดแถบริ้วธงชาติไทยตามแนวโค้งของเหรียญ ภายในผ้าจารึกคำว่า "ศิลปินแห่งชาติ" และได้อัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี ประดิษฐานไว้เหนือเหรียญกลมโดยมีผ้าโบพันรอบคฑาไม้ชัยพฤกษ์ หัวเม็ดทรงมัณฑ์ เชื่อมประสานระหว่างกัน 
 
   
ความหมาย
แสดงถึงความเป็นปราชญ์ในทางความรู้ความสารมารถของศิลปินที่ได้อุตสาหะอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะ ไว้มากมายจนเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของชาติทั้งในสาขาวรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ และศิลปะการแสดง ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชู เกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยได้รบพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินแห่งชาติ เข้ารับพระราชทานเข็มเพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ตนเองและวงศ์ตระกูลต่อไป

 โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกจากการระดมความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิในด้านศิลปะทุกสาขา ดังนี้
หลักเกณฑ์ที่ ๑ คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ
๑ ) เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน
๒) เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น
 ๓) เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน
๔) เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น
๕) เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน
๖) เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน
 ๗) เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ
หลักเกณฑ์ที่ ๒ คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะ
๑. ผลงานสื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความงาม คุณค่าทางอารมณ์ สะท้อนความเป็นธรรมชาติ หรือสถานภาพทางสังคม และวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย ค่านิยม จริยธรรม เอกลักษณ์ของท้องถิ่น และเอกลักษณ์ของชาติ
 ๒ . ผลงานสร้างสรรค์แสดงออกถึงแนวคิด กระตุ้นและพัฒนาทางสติปัญญาแก่มนุษยชาติด้านศิลปะสาขานั้น ๆ
๓ . ผลงานสร้างสรรค์ให้ความรู้สึกสะเทือนใจ ให้พลังความรู้ และส่งเสริมจินตนาการ
๔ . ผลงานสร้างสรรค์มีเอกลักษณ์เฉพาะตนไม่ลอกเลียนแบบจากผู้อื่นหรือมีกลวิธีเชิงสร้างสรรค์
หลักเกณฑ์ที่ ๓ การเผยแพร่และยอมรับคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาติ
 ๑. ผลงานได้รับการจัดแสดงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานอ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด พัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัด
 ๒. ผลงานได้รับรางวัลหรือเกียรติคุณในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาเป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ

วันกองทัพไทย


  
           18 มกราคม วันกองทัพไทย และถือเป็นวันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อีกด้วย มาเรียนรู้ประวัติความเป็นมาไปด้วยกัน

 
             เราทุกคนต่างรู้จัก "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" เป็นอย่างดี ทั้งจากในหนังสือเรียน ละคร ภาพยนตร์ รวมถึงเรื่องเล่าต่าง ๆ จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ว่าท่านทรงเป็นวีรกษัตริย์นักรบที่มีพระปรีชาสามารถ และยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่กอบกู้เอกราชให้ชาติไทยอีกด้วย ดังนั้น วันที่ 18 มกราคมของทุกปี รัฐบาลจึงกำหนดให้เป็นนกองทัพไทย วันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปรู้จักกับวันสำคัญนี้กันค่ะ

ความเป็นมาวันกองทัพไทย วันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช


             ความเป็นมาวันกองทัพไทยนั้น เกิดขึ้นจากสงครามยุทธหัตถีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2135 ในครั้งนั้นพระเจ้านันทบุเรงได้ให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบข่าว จึงยกทัพหลวงไปตั้งรับที่หนองสาหร่าย ซึ่งระหว่างที่การรบกำลังดำเนินอยู่นั้น ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรถก็ได้ไล่ล่าศัตรูไปจนออกนอกเขตแดน จนทำให้ทั้งสองพระองค์ตกไปอยู่ในวงล้อมของศัตรูโดยไม่รู้ตัว

             แต่ถึงแม้จะอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ พระองค์ก็มีพระสติ ไม่หวั่นไหว และทรงแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ว่าทางที่จะรอดได้มีเพียงทางเดียวเท่านั้น คือเชิญพระมหาอุปราชาเสด็จมาทำยุทธหัตถี ในท้ายที่สุดพระองค์ก็สามารถกระทำยุทธหัตถีได้รับชัยชนะอย่างสมพระเกียรติ และนับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกเลย ทำให้ในสมัยนั้นไทยได้ขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างขวางกว่าสมัยใด ๆ ซึ่งการทำยุทธหัตถีในครั้งนั้น ถือว่าเป็นการทำยุทธหัตถีที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และยังเป็นการรบบนบกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกด้วย 
 

             ในการนี้กองทัพไทยจึงถือเอาวันที่พระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เป็น "วันกองทัพไทย" เรียกกันอีกอย่างว่า "วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" หรือ "วันยุทธหัตถี" เป็นวันรัฐพิธี แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

             ทั้งนี้ แต่เดิมมีการะบุว่า วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชานั้น ตรงกับวันที่ 25 มกราคม ต่อมามีการคำนวณวันใหม่ จึงกำหนดให้วันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี” และเป็นวันรัฐพิธีแทนวันที่ 25 มกราคม โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการเช่นกัน

            การที่มีการเปลี่ยนแปลงวันทั้งสองนั้น เนื่องจากเป็นการนับวันทางสุริยคติ ซึ่งคนปัจจุบันจะสามารถจำได้ง่ายมากกว่า และมีความเหมาะสมกว่า อีกทั้ง นายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ก็ได้คำนวณแล้ว พบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิมที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน 2 แรม 2 ค่ำ จุลศักราช 954 ที่กำหนดเป็นวันที่ 25 มกราคมนั้น คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง คือ เป็นวันที่ 18 มกราคมดังกล่าว ดังนั้น วันที่ 18 มกราคม จึงถือเป็น "วันยุทธหัตถี" หรือ "วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"


พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

             สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นพระโอรสองค์โตของพระสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าและพระวิสุทธิกษัตรีย์ ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า สมเด็จพระนเรศวรได้ถูกนำเป็นองค์ประกันที่เมืองหงสาวดี

            ในระหว่างที่พำนักอยู่ที่นั่น พระองค์ได้ศึกษาวิชาความรู้ ความสามารถต่าง ๆ ด้วยความหวังที่แรงกล้าว่าจะได้กลับมากู้ชาติกู้แผ่นดินอีกครั้ง แต่ด้วยความที่สมเด็จพระนเรศวรเป็นผู้ที่มีความกตัญญูรู้คุณ พระองค์จึงไม่อยากที่จะทำการใด ๆ ในระหว่างที่พระเจ้าบุเรงนองยังทรงมีพระชนมชีพอยู่ แต่พอภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรก็ได้กลับมายังพระนครกรุงศรีอยุธยาบ้านเกิดอีกครั้ง และด้วยความสามารถที่เป็นเลิศทางด้านการศึกของพระองค์ โดยเฉพาะการทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ก็ทำให้พระองค์สามารถกู้บ้านเมืองคืนมาได้อีกครั้ง จนเป็นที่น่าเกรงขามของข้าศึก


ความหมายของยุทธหัตถี

             ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์มาแต่โบราณกาล ถือเป็นความเชื่อมาแต่โบราณว่า ยุทธหัตถีหรือการชนช้างนั้น เป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้ตัวต่อตัว จะแพ้หรือชนะก็ขึ้นอยู่กับความเก่งกล้า ว่องไว รวมถึงความชำนาญในการขับขี่ช้าง ดังนั้น เมื่อกษัตริย์พระองค์ใดทำยุทธหัตถีชนะ ก็จะได้รับการยกย่องว่ามีพระเกียรติยศสูงสุด หรือแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบที่แท้จริง นอกจากนี้ในสมัยอยุธยา มีการทำยุทธหัตถี รวม 3 ครั้ง คือ 

             - ครั้งแรก ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อครั้งพระอินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปาง และถูกปืนสิ้นพระชนม์

             - ครั้งที่สอง ในสมัยพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรกรุงหงสาวดี การทำยุทธหัตถีในครั้งนั้นส่งผลให้สมเด็จพระศรีสุริโยทัยต้องสิ้นพระชนม์

             - ครั้งที่สาม สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี จนได้รับชัยชนะ ซึ่งยุทธหัตถีในครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล


บทบาทของกองทัพไทย


             เนื่องในวันที่ 18 มกราคม ถือเป็นวันกองทัพไทยด้วยอีกหนึ่งวัน เราจึงควรทราบถึงบทบาทของกองทัพไทยซึ่งมีหน้าที่ที่สำคัญต่อประเทศมากมาย ล้วนแต่เป็นหน้าที่ที่สำคัญต่อประเทศชาติ ดังนี้

             - การป้องกันประเทศ


             กองทัพไทยได้จัดทำแผนการป้องกันประเทศไว้สำหรับรับสถานการณ์จากภัยคุกคามทุกด้าน และจัดให้มีการฝึกกองทัพไทยทุกปี รวมถึงมีการจัดเตรียมกำลังรบพร้อมปฏิบัติการตามแผนตั้งแต่ยามปกติและยามคับขัน รวมทั้งแก้ปัญหาผู้อพยพและผู้ที่หลบหนีเข้าเมือง 

             - การรักษาความมั่นคงภายใน


             กองทัพไทยให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมถึงปฏิบัติการด้านการข่าวเพื่อให้ได้ความร่วมมือจากประชาชนในการให้ข่าวสารกับทางราชการ และปราบปรามยาเสพติดตามแนวชายแดน

             - การรักษาผลประโยชน์ของชาติ


             กองทัพไทยมีบทบาทสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า รักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเล ช่วยแหลือผู้ประสบภัย และบรรเทาสาธารณภัย

             - การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ


             กองทัพไทยมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ประชาชน รวมถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไว้ 

             - การพัฒนาประเทศ


             การพัฒนาประเทศของกองทัพไทยนั้น คือการกำหนดแผนการปฏิบัติงานประจำปีของแต่ละหน่วย โดยใช้กำลังพลและงบประมาณของกองทัพในการดำเนินการ รวมถึงสนับสนุนภาครัฐและเอกชนตามโครงการพัฒนาประเทศ และพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ

วันกองทัพไทย
ภาพจาก Jukgrit Chaiwised


กิจกรรมที่ทำในวันกองทัพไทย

             กิจกรรมที่จะกระทำในวันกองทัพไทย คือ

             - พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล หรือที่เรียกว่า "สวนสนามสาบานธง" ซึ่งเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สำหรับทหาร และเป็นการระลึกถึงวีรกรรม

             - ทำบุญตักบาตร เพื่ออุทิศเป็นส่วนพระราชกุศลและกุศลแก่บรรพบุรุษ

             - ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ

             - จัดแสดงนิทรรศการ เกี่ยวกับความเป็นมาของความกล้าหาญแห่งวีรกษัตริย์ไทย และวันกองทัพไทย

             ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นคนไทย เกิดบนแผ่นดินไทย เราทุกคนจึงควรตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มั่นทำความดีและดูแลบ้านเมืองให้สงบสุข และที่สำคัญที่สุดคือควรสามัคคี เพื่อที่เราจะได้อยู่กันอย่างสงบ และเพื่อตอบแทนพระคุณของพระองค์ท่าน ที่ได้ทรงเสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษาแผ่นดินไทยของเราให้ได้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้